×
แชทกับหน่วยงาน
องค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์สัย
ยินดีให้บริการค่ะ....
โครงการแก้ไขและป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
รายละเอียด : ปัญหาท้องก่อนวัยอันควร หรือการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นปัญหาที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรอาจส่งผลเสีย ทั้งทางด้านสุขภาพร่างกาย จิตใจ และตามมาด้วยผลกระทบในระยะยาว โดยองค์การสหประชาชาติได้ตระหนักถึงปัญหานี้และกำหนดให้การลดอัตราการคลอดในผู้หญิงอายุ 15-19 ปี เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ทุกประเทศต้องบรรลุให้ได้ภายใน ปี พ.ศ. 2573 สำหรับประเทศไทยสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัยเปิดเผยว่าปี พ.ศ. 2558 อัตราการคลอดบุตรในช่วงอายุ 15-19 ปี ต่อประชากรหญิงช่วงอายุเดียวกัน คิดเป็น 44.8 ราย ต่อ 1,000 ราย ลดลงจากปี พ.ศ. 2557 คิดเป็น 47.9 รายต่อ 1,000 ราย ซึ่งเป็นผลจากการรณรงค์เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นอย่างจริงจังของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนส่วนใหญ่ที่เริ่มตระหนักถึงปัญหาและให้ความร่วมมือปัจจุบันประเทศไทยมีพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ซึ่งสิทธิประโยชน์ที่วัยรุ่นได้รับจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้แก่ การได้รับความรู้เรื่องเพศศึกษาอย่างเหมาะสมกับวัยและนำไปปรับใช้ได้จริงในสถานศึกษา วัยรุ่นตั้งครรภ์มีสิทธิ์ได้รับคำปรึกษา ตลอดจนความช่วยเหลือและคุ้มครองเพื่อให้ตนเองปลอดภัย วัยรุ่นตั้งครรภ์สามารถเรียนต่อได้โดยไม่ต้องพักการเรียนหรือย้ายโรงเรียน วัยรุ่นสามารถใช้บริการคลินิกสุขภาพทางเพศได้และวัยรุ่นที่คลอดบุตรจะได้รับการสนับสนุนให้เลี้ยงดูบุตรอย่างมีคุณภาพ แต่ทั้งนั้นการให้ความรู้และการคุมกำเนิดอย่างถูกต้อง เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ ซึ่งปัจจุบันทางภาครัฐได้เปิดโอกาสให้วัยรุ่นอายุ 10-20 ปี เข้ารับบริการฝังยาคุมกำเนิดชนิดกึ่งถาวรที่โรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จากข้อมูลอัตราการคลอดมีชีพในหญิงอายุ 15-19 ปี ในปีงบประมาณ 2561 ของ 12 เขตสุขภาพทั่วประเทศ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า เขตสุขภาพที่ 6 มีอัตราการคลอดมีชีพในหญิงอายุ 15-19 ปีสูงที่สุดในประเทศ ซึ่งจังหวัดชลบุรีเป็นจังหวัดที่มีอัตราการคลอดมีชีพในหญิงอายุ 15-19 ปี สูงถึง 50.1 ต่อพันประชากร (สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์, 2562) นอกจากปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ยังพบปัญหาการตั้งครรภ์ซ้ำในวัยรุ่น โดยการตั้งครรภ์ซ้ำในวัยรุ่นของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2558 มีแนวโน้มลดลงจาก ร้อยละ 17.88 เป็นร้อยละ 14.86 ในปี 2562 เขตสุขภาพที่ 6 มีนโยบายการดำเนินการป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำในหญิงอายุน้อยกว่า 20 ปี ด้วยมาตรการการให้บริการคุมกำเนิดหลังคลอดและแท้ง โดยเฉพาะการคุมกำเนิดกึ่งถาวร (ยาฝังคุมกำเนิด/ใส่ห่วงอนามัย) และจากการดำเนินการพบการตั้งครรภ์ซ้ำมีแนวโน้มลดลงจาก ร้อยละ 21.94 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 15 ในปี 2562 พบสูงสุดที่จังหวัดสมุทรปราการ (ร้อยละ 17.39) และต่ำสุดที่จังหวัดสระแก้ว (ร้อยละ 8.84) ซึ่งสอดคล้องกับการคุมกำเนิดหลังคลอดและหลังแท้งในหญิงอายุน้อยกว่า 20 ปีด้วยวิธีสมัยใหม่เพิ่มขึ้น โดยประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 12.6 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 35.32 ในปี 2562 เขตสุขภาพที่ 6 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 17.48 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 44 ในปี 2562 พบสูงสุดที่จังหวัดตราด (ร้อยละ 77.36) ต่ำสุดที่จังหวัดระยอง (ร้อยละ 21.95) และการคุมกำเนิดหลังคลอดและหลังแท้งในหญิงอายุน้อยกว่า 20 ปี ด้วยวิธีคุมกำเนิดกึ่งถาวร(การฝังยาคุม/ใส่ห่วงอนามัย) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 26.76 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 65.81 ในปี 2562 เขตสุขภาพที่ 6 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 27.2 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 81.31 ในปี 2562 พบสูงสุดที่จังหวัดตราด (ร้อยละ 98.54) และต่ำสุดที่จังหวัดปราจีนบุรี องค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ีสัยโดยงานพัฒนาชุมชน นางอิงอร คุ้มคง นักพัฒนาชุมชน และ นายบุญนำ หลงสวนจิก ผู้ช่วย ซึ่งมีบทบาทในการสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ฯ ภายใต้ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมสุขภาพวัยรุ่น มุ่งสู่การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ เพื่อสนับสนุน แนวทางการดำเนินงานและกลยุทธ์ มาตรการ การจัดการด้านส่งเสริมสุขภาพวัยรุ่นแบบบูรณาการ เพื่อลดอัตราการคลอด การตั้งครรภ์ซ้ำและผลกระทบจากการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ในภาพเขตชุมชนตำบลโพธิ์สัย ต่อไป
ผู้โพส : admin